ความหลากหลายและการค้นพบใหม่ของไผ่ในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
Diversity and new discoveries of bamboos in Thailand over the past decade
             

          ไผ่เป็นพืชในวงศ์หญ้า (Poaceae หรือ Gramineae) จัดอยู่ในวงศ์ย่อยไผ่ (Bambusoideae)  การวินิจฉัยชนิดของไผ่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน ทำให้ปัจจุบันนี้เรายังไม่สามารถทราบตัวเลขที่แน่นอนได้ว่าไผ่ในประเทศไทยมีกี่ชนิด  ในธรรมชาติเราสามารถพบไผ่ได้ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ยกเว้น ทวีปยุโรปและแถบบริเวณขั้วโลก  ทั่วโลกมีไผ่ประมาณ 80-90 สกุล จำนวน 1,000-1,500 ชนิด ในประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 15-20 สกุล 80-100 ชนิด

การจัดจำแนกไผ่และความสัมพันธ์ของไผ่กับพืชวงศ์หญ้าอื่นๆ
          ในอดีตโดยอาศัยข้อมูลทางด้านสัณฐานวิทยาและกายวิภาคเป็นหลัก ได้มีการจัดจำแนกไผ่ออกเป็น 2 เผ่า (Tribe) คือ เผ่าไผ่ล้มลุก (Tribe Olyreae) และ เผ่าไผ่มีเนื้อไม้ (Tribe Bambuseae) และเชื่อกันว่าไผ่มีความสัมพันธ์ทางด้านวงศ์วานวิทยาใกล้ชิดกับหญ้าในวงศ์ย่อยข้าวจ้าว/ข้าวเหนียว (Eharhartoideae หรือ Oryzoideae)  แต่จากการอาศัยข้อมูลทางด้านชีววิทยาโมเลกุลผนวกกับข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์เข้ามาช่วย พบว่า พืชในวงศ์ย่อยไผ่ควรแบ่งออกเป็น 3 เผ่า ได้แก่ 1) เผ่าไผ่ล้มลุก (Tribe Olyreae)  2) เผ่าไผ่มีเนื้อไม้เขตร้อน (Tribe Bambuseae) และ 3) เผ่าไผ่มีเนื้อไม้เขตหนาว (Tribe Arundinarieae)  และยังได้ข้อสรุปว่าจริงๆแล้วไผ่มีสัมพันธ์ทางด้านวงศ์วานวิทยาใกล้ชิดกับหญ้าในวงศ์ย่อยข้าวบาร์เลย์ (Pooideae)


การค้นพบใหม่ของไผ่ในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
          ปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) : ดร. Soejatmi Dransfield ผู้เชี่ยวชาญไผ่จากสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew gardens) ประเทศอังกฤษ ค้นพบไผ่สกุลใหม่ของโลก (world new bamboo genus) และได้ตั้งชื่อไผ่สกุลนี้ว่า สกุลไผ่อาจารย์เต็ม (Temochloa S. Dransf.) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร. เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ของประเทศไทย ไผ่สกุลนี้มีชนิดเดียวคือ ไผ่อาจารย์เต็ม (Temochloa liliana S. Dransfield) เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) ของไทย


          ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) : ดร. Soejatmi Dransfield  ดร. รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ดร. สราวุธ สังข์แก้ว จากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ ค้นพบไผ่ชนิดใหม่ของโลก (world new bamboo species) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่ราชวัง (Neohouzeaua kerriana S. Dransf., Pattan. & Sungkaew) และ ไผ่เลื้อยระนอง (Neohouzeaua fimbriata S. Dransf., Pattan. & Sungkaew)


ไผ่ราชวัง (Neohouzeaua kerriana S. Dransf., Pattan. & Sungkaew)

          ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) : ดร. สราวุธ สังข์แก้ว  ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จากกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  นายวีระพงษ์ โคระวัตร จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ดร. Trevor Hodkinson จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ Trinity College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ ค้นพบไผ่มันหมู (Dendrocalamus copelandii (Gamble ex Brandis) N.H. Xia & Stapleton) ซึ่งเป็นไผ่ชนิดใหม่ของไทย (new bamboo species recorded for Thailand) เป็นไผ่ขนาดใหญ่พบได้เฉพาะตามเขาหินปูนเท่านั้น

                    ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) : ดร. สราวุธ สังข์แก้ว  ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และ ดร. Trevor R. Hodkinson ค้นพบไผ่กระโรม (Dendrocalamus khoonmengii Sungkaew, Teerawat & Hodk.) ซึ่งเป็นไผ่ชนิดใหม่ของโลก (world new bamboo species) ที่น้ำตกกระโรม อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช คำระบุชนิด “khoonmengii” ของไผ่ชนิดนี้ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร. Wong Khoon Meng ผู้เชี่ยวชาญไผ่ของประเทศมาเลเซีย ผู้พบและเก็บตัวอย่างไผ่ชนิดนี้มาเผยแพร่เป็นคนแรก

          ปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) : ดร. สราวุธ สังข์แก้ว และ ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ ค้นพบไผ่สกุลใหม่ของโลก (world new bamboo genus) และได้ตั้งชื่อสกุลไผ่นี้ว่า สกุลไผ่ภูพาน (Phuphanochloa Sungkaew & Teerawat.) เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบไผ่สกุลนี้ คือ อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร  ปัจจุบันพบไผ่ในสกุลนี้เพียงชนิดเดียวคือ ไผ่ภูพาน (Phuphanochloa speciosa Sungkaew & Teerawat.) จากการสำรวจคาดว่าเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) พบได้เฉพาะประเทศไทยเป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สามารถนำมาเป็นไผ่ประดับได้ ส่วนประโยชน์ด้านอื่นๆยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
          

          ปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) : นายจักรพงษ์ รัตนมณี  รศ.ดร. ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร. สราวุธ สังข์แก้ว ค้นพบว่าไผ่เลื้อย (Maclurochloa montana (Ridl.) Wong) มีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทยด้วย จากเดิมที่เข้าใจว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศมาเลเซีย ขณะนี้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์แล้วในวารสาร The Gardens’ Bulletin, Singapore

คณะผู้วิจัย
ดร.สราวุธ สังข์แก้ว
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0176