มะกล่ำตาหนู

Jaran Pr
1 min readMar 18, 2024

พืชสกุล Abrus เป็นสกุลของพืชดอกในวงศ์ถั่ว FABACEAE มีสมาชิก 17 ชนิด(1) พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก สมาชิกในสกุลนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้เถาเลื้อย แต่มีบางชนิดเป็นไม้พุ่ม ดังนี้ Abrus aureus R.Vig., Abrus baladensis Thulin, Abrus bottae Deflers, Abrus canescens Welw. ex Baker, Abrus diversifoliolatus Breteler, Abrus fruticulosus Wall. ex Wight & Arn., Abrus gawenensis Thulin, Abrus kaokoensis Swanepoel & Kolberg, Abrus laevigatus E.Mey., Abrus longibracteatus Labat, Abrus madagascariensis R.Vig., Abrus melanospermus Hassk., Abrus parvifolius (R.Vig.) Verdc., Abrus precatorius L., Abrus sambiranensis R.Vig., Abrus somalensis Taub. และ Abrus wittei Baker f. โดยสมาชิกที่รู้จักมากที่สุดในสกุลนี้คือ มะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius) เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีอายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และพบแพร่กระจายไปในหลายประเทศของทวีปอเมริกาใต้(1) สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามชายป่าเกือบทุกภาค มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ตากล่ำ กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ มะกล่ำแดง มะแค๊ก (เชียงใหม่) เกมกรอม (สุรินทร์) หมากกล่ำตาแดง (อีสาน) มะขามเถา ไม้ไฟ (ตรัง) ตาดำตาแดง (สุพรรณบุรี)(2)

ลักษณะทั่วไปของมะกล่ำตาหนูใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยออกเป็นคู่ จำนวน 8–12 คู่ รูปขอบขนาน โคนและปลายมน ขอบใบเรียบ ดอกแบบถั่ว ออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบรองดอกสีเขียว กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง ผลเป็นฝักรูปขอบขนานยาว 3–4.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกตามยาวและบิดเป็นเกลียวเพื่อกระจายเมล็ด เมล็ดจะคงติดอยู่ที่เปลือกฝักระยะหนึ่ง จำนวน 5–6 เมล็ด เมล็ดกลมรีสีแดงสดมีขั้วสีดำเห็นชัดเจน เปลือกแข็ง ผิวมันวาว ออกดอกตามธรรมชาติในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

ภาพที่ 1 ลักษณะใบ ดอก ฝัก และเมล็ดของมะกล่ำตาหนู

มะกล่ำตาหนูเป็นพันธุ์ไม้ที่เมล็ดมีสีสันสดใส แต่แฝงด้วยอันตรายเนื่องจากเมล็ดมีสารพิษชื่ออะบริน (abrin) ถ้าเคี้ยวกินเพียง 1–2 เมล็ด อาจถึงตายได้(3) ดังนั้นต้องเตือนให้ลูกหลานหรือเด็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยซุกซน ได้ทราบถึงอันตรายจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู รวมไปถึงพิษที่มีพิษอื่น ๆ ด้วยครับ

เอกสารอ้างอิง

1. POWO (2024). “Plants of the World Online. Facilitated by the Royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet; http://www.plantsoftheworldonline.org/ Retrieved 05 March 2024.”

2. สำนักงานหอพรรณไม้. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

3. Tam, C.C., Henderson, T.D., Stanker, L.H., He, X. & Cheng, L.W. (2017). Abrin toxicity and bioavailability after temperature and pH treatment. Toxins. 9, 320.

--

--